เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัส อันใด
อาศัยกามคุณ 5 นั้นเกิดขึ้น โสมนัสนี้ เรียกว่า กามคุณอันเป็นสุขที่เกิดแต่การมี
เพศสัมพันธ์ สุขของปุถุชน มิใช่สุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า “ไม่ควรเสพ ไม่ควร
คบหา ไม่ควรให้เจริญ ไม่ควรทำให้มาก ควรเกรงกลัวสุขชนิดนี้”1 รวมความว่า
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรสอร่อย
คำว่า น่ารื่นเริงใจ อธิบายว่า
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดจากวิญญาณขันธ์นั้น กามย่อมล่อ
ใจให้ยินดี ชื่นชม พอใจ รื่นเริง รวมความว่า เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรส
อร่อย น่ารื่นเริงใจ
คำว่า ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ อธิบายว่า ย่อมยั่วยวน คือ
ล่อให้จิตพอใจ ให้ร่าเริง ให้รื่นเริง ด้วยรูปชนิดต่าง ๆ ฯลฯ โผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ
รวมความว่า ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ

ว่าด้วยโทษแห่งกามคุณ
คำว่า เราเห็นโทษในกามคุณแล้ว อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งกาม เป็นอย่างไร กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วย
การมีศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนน การคำนวณ การนับจำนวน การไถ
การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใด
อย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำต่อความร้อน หวาดกลัวแต่สัมผัสแห่ง
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และตายลงด้วยความหิวกระหาย แม้ข้อนี้
ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นเค้า มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

เชิงอรรถ :
1 ม.อุ. 14/328/299-300

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :442 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหลว่า
“ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลเลย” แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า
เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า
มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมสัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัส มีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติเหล่านั้น
ว่า “ทำอย่างไร พระราชาทั้งหลาย จะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจร
จะไม่พึงลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึง
แย่งไป” เมื่อกุลบุตรนั้นรักษา คุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคสมบัติ
นั้นไปก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
แย่งเอาไปก็ดี เขาเศร้าโศก ฯลฯ ถึงความหลงใหลว่า“สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้น
ก็ไม่เป็นของเรา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกอง
ทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเหตุเกิด เกิด
เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง พวกพระราชาทรงวิวาทกับ
พวกพระราชาก็ได้ พวกกษัตริย์วิวาทกับพวกกษัตริย์ก็ได้ พวกพราหมณ์วิวาทกับ
พวกพราหมณ์ก็ได้ พวกคหบดีวิวาทกับพวกคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้
บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้อง
ชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหาย
วิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้น ถึงการทะเลาะ แก่งแย่งและวิวาทกันในที่นั้น
ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง
ถึงความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกาม
ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :443 }